การประกันคุณภาพหลักสูตร

     1. กลไกการบริหารหลักสูตร 

     คณะกรรมการบริหารหลักสูตรประกอบด้วยผู้แทนสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย กับผู้แทนจากสถาบันการศึกษาทางไกล สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนหลักสูตรเวชปฏิบัติเพื่อการเสริมสวย การบริหารจัดการหลักสูตร และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตร การอำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียน ประสานงานระหว่างสมาคมฯ สถาบันการศึกษาทางไกล และตัวแทนจากภาคีเครือข่ายการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีกลไกการบริหารหลักสูตร ดังนี้

         1.1 การกำกับติดตามการใช้หลักสูตร จัดให้มีการกำกับ ติดตามตรวจสอบการนำหลักสูตรไปใช้ในการจัดการศึกษาตามหลักสูตรทุกขั้นตอน ดังนี้

              1) การบริหารหลักสูตร

              2) กระบวนการคัดเลือกผู้เรียน

              3) กระบวนการจัดการเรียนการสอน

              4) การติดตาม ดูแล ช่วยเหลือผู้เรียน

         1.2 การประเมินหลักสูตร กำหนดให้มีการดำเนินการประเมินหลักสูตรโดยสำรวจความคิดเห็นจากผู้เรียน ผู้สอน   และองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ  ประเมินจากผลสัมฤทธิ์ผู้สำเร็จการศึกษา  เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรและพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

         1.3 การติดตามผลผู้สำเร็จการศึกษา ดำเนินการติดตามผลผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร โดยติดตามจากผู้สำเร็จการศึกษาจากเพื่อนร่วมงาน  และจากผู้บังคับบัญชาของผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร  โดยจะเริ่มดำเนินการเมื่อมีผู้สำเร็จการศึกษาครบ ทุก 2 ปี เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจปรับปรุงหลักสูตร

 

2. แนวทางการจัดการเรียนการสอน 

     การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม  แผนพัฒนาสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย ปรัชญาของการศึกษาระบบทางไกล การจัดการเรียนการสอนจึงมุ่งเน้นการบูรณาการศาสตร์สาขาวิชาต่างๆทางการแพทย์ มาใช้ในการพัฒนาแพทย์ผู้เรียนให้ทักษะประสบการณ์ตามมาตรฐานวิชาชีพ มีความคิดสร้างสรรค์ มีคุณธรรม จริยธรรม มีศักยภาพในการประกอบวิชาชีพด้านเวชปฏิบัติเพื่อการเสริมสวยที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และสามารถเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศชาติ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนไว้ดังนี

     2.1 จุดเน้นของหลักสูตรเวชปฏิบัติเพื่อการเสริมสวย มีดังนี้

           1) เป็นหลักสูตรที่เน้นการบูรณาการเชื่อมโยงศาสตร์สาขาวิชาต่างๆทางการแพทย์

           2) เป็นการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ระบบการศึกษาทางไกล ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อ ควบคู่การฝึกทักษะประสบการณ์ในสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวย ภายใต้การดูแลของอาจารย์ผู้สอนที่เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านเวชปฏิบัติเพื่อการเสริมสวยในแต่ละหัตถการ

     2.2 อาจารย์ผู้สอน ประกอบด้วยอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ จากสถาบันราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัย สมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย ภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ

     2.3 การสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ การดูแลผู้เรียนก่อนที่จะทำการสอนในแต่ละวิชา โดยอาจารย์ผู้สอนต้องวางแผนการสอนและจัดเตรียมสื่อให้พร้อม ก่อนที่จะดำเนินการสอน และมีการประเมินผลการสอน / การเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอน

     2.4 วิธีการจัดการเรียนการสอน ใช้วิธีการที่หลากหลาย ดังนี้

           1) การจัดการเรียนการสอน โดยวิธีการศึกษาทางไกล เพื่อเรียนรู้ในวิชาพื้นฐาน เป็น
การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ภายใต้กรอบเวลาและแนวทางที่กำหนด

            2) การจัดการเรียนการสอนในสถานพยาบาล เพื่อเรียนรู้และฝึกทักษะประสบการณ์รายหัตถการ ด้านเวชปฏิบัติเพื่อการเสริมสวย ตามที่สมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทยกำหนด โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสภาพจริงของหัตถการโดยมีแพทย์ผู้มีประสบการณ์ ในหัตถการนั้นๆ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์และเป็นพี่เลี้ยง

            3) การมอบหมายงานมีทั้งการเก็บจำนวนหัตถการจากอาจารย์ผู้สอน การเป็นผู้ช่วยอาจารย์ผู้สอนในการทำหัตถการ เพื่อเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติงาน
ด้านเวชปฏิบัติเพื่อการเสริมสวยได้จริง โดยเน้นมาตรฐานและความปลอดภัยในการบริบาลของผู้รับบริการ

     2.5 การวัดและประเมินผล มีการวัดผลในทุกกระบวนการของการเรียนรู้ โดยการวัดระดับความรู้ ความสามารถของผู้เรียนในทุกด้าน โดยใช้เครื่องมือและวิธีการอย่างหลากหลายตามสภาพจริง และมีหลักเกณฑ์ในการวัดและประเมินผลที่ชัดเจน เป็นมาตรฐาน

 

3. ทรัพยากรการเรียนการสอน

     ทรัพยากรการเรียนการสอนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การบริหารจัดการหลักสูตรและการเรียนการสอน เป็นไปตามปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร จึงกำหนดแนวทางสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากร ดังนี้

      3.1 พัฒนาสื่อและจัดให้มีช่องทางการเรียนรู้ที่ง่ายและสะดวกต่อการเข้าถึงของผู้เรียน

      3.2 มีระบบสนับสนุนการเรียนรู้ เช่น เทคโนโลยีสื่อออนไลน์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสถานประกอบการและสถานพยาบาล เป็นต้น

      3.3 มีเครือข่ายสถานพยาบาล เพื่อรองรับการฝึกทักษะประสบการณ์ ด้านเวชปฏิบัติเพื่อการเสริมสวย ตามหัตถการที่มีการจัดการเรียนการสอนตามมาตรฐาน

 

4. การสนับสนุนและการให้คำปรึกษาแนะนำผู้เรียน

     การสนับสนุนและการให้คำปรึกษาแนะนำผู้เรียนเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการศึกษา จึงกำหนดให้มีการสนับสนุนและการให้คำแนะนำ  ดังนี้

      4.1 จัดปฐมนิเทศเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจและมีเจตคติที่ดีต่อหลักสูตร แนะแนววิธีการเรียน แนวทางการจัดกิจกรรม การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล และเกณฑ์การจบหลักสูตร

      4.2 จัดอาจารย์ผู้สอนทำหน้าที่ให้คำแนะนำและติดตามผู้เรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันปัญหาด้านการเรียนการสอนที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้คำแนะนำด้านอื่นๆ ตามความต้องการของผู้เรียน

      4.3 จัดอาจารย์ที่ปรึกษาภาคปฏิบัติ สนับสนุนและให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน

      4.4 จัดวิทยากรจากภายนอกเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และทักษะประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีเกี่ยวกับเวชปฏิบัติเพื่อการเสริมสวย

 

5. ความต้องการของสังคม และ / หรือความพึงพอใจของผู้รับบริการ

     เพื่อให้การบริหารหลักสูตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  สามารถพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม และสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้รับบริการ กำหนดแนวทาง
การดำเนินการ ดังนี้

     5.1 ศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการของสังคมอย่างต่อเนื่อง 

     5.2 ติดตามผลการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการศึกษาที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรเป็นระยะๆ